Skin Solution

ฝ้ารักษาได้จริงเหรอ ?

ฝ้ารักษาได้จริงเหรอ ?

ฝ้าเป็นรอยคล้ำที่พบได้บ่อยในคนผิวคล้ำเช่น ชาวเอเชียอย่างเรา ๆ ชาวอเมริกันผิวดำ และชาวแมกซิกัน มักจะพบในผู้หญิงมากกว่าผู้ชาย  หญิงไทยจำนวนไม่น้อยที่มีปัญหาฝ้าบนใบหน้า ในปัจจุบันยังไม่ทราบสาเหตุแน่นอนว่าฝ้ามีเกิดจากอะไร  แต่บ่อยครั้งที่พบฝ้าตามหลังภาวะที่ร่างกายมีฮอร์โมนเพศหญิงสูง เช่น ขณะตั้งครรภ์ ขณะรับประทานหรือฉีดยาคุมกำเนิด  แสงแดด และแสงจากเตาไฟก็เป็นอีกสิ่งหนึ่งที่กระตุ้นให้เกิดฝ้าหรือทำให้ฝ้าที่เป็นอยู่มีสีเข้มขึ้น

 

อย่าเหมาไปว่ารอยคล้ำที่พบบนใบหน้าจะเป็นฝ้าแต่เพียงอย่างเดียว ฝ้ามีลักษณะเป็นปื้นสีน้ำตาลที่ไม่นูน มักพบบนใบหน้าในลักษณะการกระจายตัวที่สมมาตรกัน ตำแหน่งที่พบบ่อยได้แก่ หน้าผาก โหนกแก้ม คาง และบริเวณเหนือริมฝีปากบน  รอยคล้ำชนิดอื่น ๆที่พบบ่อยบนใบหน้าแต่ไม่ใช่ฝ้า ที่ทำให้เราสับสน เช่น กระแดด กระเนื้อ และกระลึก กระแดดจะมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลอ่อนขนาดเล็ก ไม่นูนและมักกระจายอยู่ทั่ว ๆใบหน้า กระเนื้อเป็นตุ่มนูนสีน้ำตาล ซึ่งถ้าปล่อยไว้นาน ๆกระเนื้อจะมีผิวขรุขระคล้ายดอกกะหล่ำ ส่วนกระลึกมีลักษณะเป็นจุดสีน้ำตาลเข้มกระจายอยู่เฉพาะบริเวณโหนกแก้มทั้งสองข้าง เราจำเป็นต้องแยกให้ออกว่ารอยคล้ำนั้น ๆเป็นฝ้า กระแดด กระเนื้อ หรือกระลึกเพราะแต่ละรอยคล้ำเหล่านี้มีวิธีการรักษาที่ต่างกัน

 

ในปัจจุบันวิธีมาตรฐานที่ใช้ในการรักษาฝ้าที่ได้ผลและปลอดภัยที่สุดคือ การทายา ยาทารักษาฝ้ามีหลายชนิด บางชนิดออกฤทธิ์โดยการยับยั้งการสร้างเม็ดสี เช่น ไฮโดรควิโนน กรดอะเซลาอิก บางชนิดออกฤทธิ์เร่งให้หนังกำพร้าผลัดตัวหลุดลอกเร็วขึ้นเพื่อให้เม็ดสีส่วนเกินหลุดลอกไปด้วย เช่น กรดเรทิโนอิก (กรดวิตะมินเอ) กรดผลไม้ความเข้มข้นต่ำ (เอ เอช เอ)  การใช้ยาที่ว่ามานี้ควรใช้ภายใต้การติดตามดูแลของแพทย์  ไม่ควรซื้อมาใช้เองเพราะอาจเกิดผลข้างเคียงจากการใช้ยาได้

 

ครีมทารักษาฝ้าชนิดใหม่ ๆ อาหารเสริม ยารับประทานหรือยาฉีดที่เรามักได้ยินว่ารักษาฝ้าได้ ส่วนใหญ่ยังอยู่ในขั้นตอนการศึกษาวิจัย ซึ่งการวิจัยส่วนใหญ่ยังมีจำนวนผู้ป่วยที่ใช้ในการศึกษาไม่มากพอ รวมถึงวิธีการศึกษายังไม่รัดกุม ทำให้ประสิทธิภาพของครีมและอาหารเสริมรักษาฝ้าส่วนใหญ่ยังต้องติดตามผลการรักษาต่อไป ทั้งในแง่ประสิทธิภาพที่แท้จริงในการรักษาฝ้า, ผลแทรกซ้อน รวมถึงการนำมาประยุกต์ใช้จริงในคนไข้

 

การลอกหน้าด้วยน้ำยาเคมี (Chemical peel) เป็นอีกหนึ่งการรักษาที่มักใช้ร่วมกับการทายา หรือที่เรามักคุ้นเคยกับศัพท์ที่เรียกว่าว่า “การทำทรีทเมนต์”  คือการใช้สารเคมีที่มีคุณสมบัติเร่งให้หนังกำพร้าผลัดตัวหลุดลอกเร็วขึ้น เช่น กรดผลไม้ความเข้มข้นสูง การรักษาด้วยการทายาควบคู่กับการลอกหน้าด้วยน้ำยาเคมี  มักช่วยให้ฝ้าจางไวขึ้นกว่าการรักษาด้วยวิธีใดวิธีหนึ่งเพียงอย่างเดียว  นอกจากนี้ยังมีการรักษาอีกหลายวิธี เช่น การกรอผิวด้วยเกล็ดอัญมณี (Microdermabrasion) การทำไอออนโตฟอเรซิส  เป็นต้น แต่ก็ยังไม่มีวิธีใดที่ได้ผลดีและรักษาฝ้าให้หายขาดได้

 

ตั้งแต่อดีตมาถึงปัจจุบัน มีการนำเลเซอร์หลายระบบมาใช้รักษาฝ้า ไม่ว่าจะเป็น เลเซอร์ทับทิม เลเซอร์ Nd:YAG เลเซอร์Alexandrite เลเซอร์ Erbium เลเซอร์กรอผิวเป็นส่วน ๆ (Fractional Resurfacing) เลเซอร์ copper bromide เป็นต้น แต่ยังไม่มีเลเซอร์ระบบใดที่สามารถรักษาฝ้าได้ผลดี และสามารถทำให้ฝ้าหายขาดได้  ที่แย่ไปกว่านั้นคือ เลเซอร์อาจทำให้รอยคล้ำของฝ้ามีสีเข้มขึ้น หรือทำให้รอยฝ้ากลายเป็นสีกระดำกระด่าง ดูเด่นชัดมากขึ้น ผู้ป่วยส่วนน้อยที่ฝ้าจางลงหลังเลเซอร์ และในรายที่ฝ้าดีขึ้นเกือบทุกรายฝ้าจะกลับเป็นซ้ำหลังหยุดการรักษา

 

จากผลสำรวจที่หน่วยตรวจโรคผิวหนัง ร.พ. ศิริราชพบว่าฝ้าบนใบหน้ามีผลกระทบต่อคุณภาพชีวิตของผู้ป่วยค่อนข้างมาก ทำให้ผู้ป่วยขาดความมั่นใจ และมีผลต่อการใช้ชีวิตในสังคม ถึงแม้ผู้ป่วยส่วนใหญ่จะทราบดีว่ายังไม่มีวิธีการรักษาใด ๆที่รักษาฝ้าได้ผลดีหรือทำให้ฝ้าหายขาดได้ แต่กระนั้นผู้ป่วยส่วนใหญ่ก็ยังต้องการรับการรักษา เพื่อให้รอยฝ้าจางลงบ้าง หรือจางลงในระดับที่สามารถปกปิดด้วยเครื่องสำอางได้

 

ปัจจุบันยังไม่มีวิธีการรักษาใด ๆที่รักษาฝ้าได้ดีกับทุกคน และรักษาให้หายขาดได้ ไม่ว่าจะเป็นการทายา การลอกหน้าด้วยน้ำยาเคมี  หรือแม้แต่เลเซอร์  วิธีการรักษาที่มีอยู่ในปัจจุบันอาจช่วยให้รอยคล้ำของฝ้าจางลง หรือบางรายอาจเลือนหายไปเลย  แต่ผลการรักษามักคงอยู่ชั่วคราว ฝ้ามักกลับเป็นซ้ำเมื่อหยุดการรักษา หรือบ่อยครั้งฝ้าก็อาจเข้มขึ้น ทั้ง ๆ ที่ยังรักษาอยู่  สิ่งที่ผู้ป่วยอาจช่วยตัวเองได้คือการหลีกเลี่ยงปัจจัยที่กระตุ้นให้ฝ้าเข้มขึ้น เช่น การตากแดด การรับประทานยาประเภทฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด เป็นต้น และการใช้ครีมกันแดดอย่างสม่ำเสมอ

 

 

ขอขอบคุณบทความจาก ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ
หนังสือ สวยด้วยเลเซอร์ สำนักพิมพ์อมรินทร์พริ๊นติ้ง