บทความ Knowledges
อายุเริ่มมา หนังตาก็เริ่มตก แก้ไขอย่างไรดี?
อายุที่มากขึ้นกับปัญหาเปลือกตาและบริเวณใกล้เคียง
เคยสังเกตหรือไม่ว่า เมื่อคนเราอายุมากขึ้น ริ้วรอยและความหย่อนคล้อยเริ่มมาเยือน หนังตาที่เคยเต่งตึงก็มักตกย้อย จากเดิมที่เคยตากลมโตก็จะดูตาเล็กลงไม่สวยงาม หรือรู้สึกว่าเปลือกตาดูเหมือนปรือ ๆ ง่วง ๆ กว่าที่เคยเป็น
สาเหตุของการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่เพิ่มขึ้น
กายวิภาคของเปลือกตาและใบหน้า มีการเปลี่ยนแปลงตามอายุที่มากขึ้น ไม่ว่าจะเป็น ส่วนของผิวหนังที่บางลง ทำให้หย่อนคล้อยมีริ้วรอยเพิ่มขึ้น รวมถึงเนื้อเยื่อส่วนที่ลึกลงไป ไม่ว่าจะเป็นชั้นไขมัน กล้ามเนื้อหรือ เอ็นที่หย่อนคล้อยลงมามาก ขึ้นตามแรงโน้มถ่วง สำหรับบริเวณรอบๆดวงตา สิ่งที่พบบ่อยก็คือเรื่องของเปลือกตาบน และคิ้วที่หย่อน หรือตก รวมถึงถุงใต้ตาที่เห็นได้ชัดเจนขึ้น มาทำความรู้จักกับปัญหาของเปลือกตาที่เกิดจากอายุที่เพิ่มขึ้นกันดีกว่า
สำหรับเปลือกตาบน ปัญหาที่พบบ่อย แบ่งเป็น 3 ภาวะหลักคือ
- เปลือกตาหรือหนังตาหย่อน (dermatochalasis)
- เปลือกตาตก (blepharoptosis/ eyelid ptosis)
- คิ้วตก (brow ptosis)
ภาวะเปลือกตาหย่อน หรือ หนังตาหย่อน (dermatochalasis)
เกิดขึ้นได้จากหลายสาเหตุ พบบ่อยคือ เกิดในผู้สูงอายุ เนื่องจากหนังตามีความยืดหยุ่นตามอายุที่มากขึ้น ทำให้หนังตาสามารถหย่อนคล้อยลงมาได้ ส่วนบุคคลทั่วไปที่ไม่ใช่ผู้สูงอายุ มีส่วนเกี่ยวข้องกับพันธุกรรมหรือชาติพันธุ์ เช่น ในคนเอเชียที่มีตาชั้นเดียว และมีการสะสมของไขมันใต้ชั้นหนังตามาก ทำให้ชั้นหนังตาห้อยลงมาต่ำกว่าระดับขนตา และโดยเฉพาะในผู้สูงอายุอาจพบภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis) และคิ้วตก (brow ptosis) ร่วมด้วยได้ ซึ่งต้องแยกสาเหตุเพราะวิธีการรักษานั้นแตกต่างกัน
แก้ไขภาวะหนังตาหย่อนอย่างไร
ภาวะเปลือกตาหย่อนสามารถแก้ไขโดยการผ่าตัดเปลือกตา โดยเลือกตัดบริเวณหนังตาที่ห้อยย้อยลงมาออก (upper blepharoplasty) รอยแผลผ่าตัดจะซ่อนอยู่ตรงบริเวณชั้นตา (ถ้ามีชั้นตา) ระหว่างการผ่าตัดอาจจะมีการนำไขมันส่วนเกินที่ทำให้เปลือกตาอูมออกได้ด้วย ก่อนที่จะเย็บปิดแผลตรงชั้นตาให้สวยงามและมีความเป็นธรรมชาติ อาจทำร่วมกับการผ่าตัดตาทำตาสองชั้นได้ ในกรณีที่ต้องการแก้ไขเรื่องชั้นตาด้วย โดยเย็บยึดชั้นผิวหนังกับขอบของกล้ามเนื้อยกเปลือกตาเพื่อทำให้เกิดรอยพับขึ้นเวลาลืมตา
รูปแสดงการทำผ่าตัด upper blepharoplasty แก้ไขหนังตาหย่อน
ภาวะเปลือกตาตก (blepharoptosis / eyelid ptosis)
เปลือกตาตก (ptosis) คือภาวะที่เปลือกตาบนนั้นคล้อยลงมาอยู่ต่ำกว่าตำแหน่งที่ควรจะเป็น โดยในภาวะปรกติ ขอบเปลือกตาบนจะอยู่บริเวณใกล้ขอบของตาดำด้านบน ถ้าเปลือกตาตกลงมามาก จนกระทั่งใกล้กับหรือคลุมรูม่านตา นอกจากจะทำให้ตาดูปรือแล้ว ยังอาจมีผลกระทบต่อการมองเห็นและลานสายตาได้ ทำให้เกิดอาการเมื่อยเปลือกตาหรือหน้าผากเพราะต้องคอยยกขึ้นเพื่อที่จะมองเห็น ซึ่งสาเหตุหนึ่งที่พบบ่อยในอายุที่มากขึ้นนั้นเกิดจากกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตานั้นมีอาการอ่อนแรงหรือหลุดจากบริเวณที่เคยเกาะ ทำให้เกิดภาวะเปลือกตาตกได้ จนจำเป็นต้องผ่าตัดแก้ไขกล้ามเนื้อยกเปลือกตาในที่สุด
อาการของภาวะเปลือกตาตก
เมื่อเปลือกตาตกลงมาบังตาดำอาจทำให้เกิดอาการได้ดังนี้
ถ้าเป็นข้างเดียวจะทำให้ดูตาและคิ้วดูไม่เท่ากัน ไม่สวยงาม เพราะโดยปรกติคนเราจะพยายามยกคิ้วข้างที่เปลือกตาตกขึ้นโดยไม่รู้ตัว เพื่อให้มองเห็นได้ดีขึ้น
รูปของภาวะเปลือกตาตกด้านซ้ายมากกว่าด้านขวา ให้สังเกตดูเปลือกตาซ้ายนั้นตกลงมาบังจุดที่แสงแฟลชตกกระทบที่กระจกตาดำ ทำให้บังการมองเห็นของตาซ้าย รวมถึงเปลือกตาซ้ายที่ดูโหลลึก และตำแหน่งคิ้วข้างซ้ายจะยกสูงกว่าคิ้วขวาเนื่องจากเปลือกตาซ้ายที่ตกมากกว่า รวมถึงรอยย่นที่หน้าผากซึ่งเกิดจากกล้ามเนื้อหน้าผากที่ทำงานหนักเพื่อพยายามยกเปลือกตาขึ้น
ถ้าเป็นสองข้างจะทำให้ดูตาปรือเหมือนง่วงนอนตลอดเวลา มีชั้นตาที่ดูสูงขึ้น และเบ้าตาลึกได้ และคิ้วจะดูสูงขึ้น เพราะใช้กล้ามเนื้อหน้าผากช่วยยกเช่นเดียวกัน ทำให้อาจมีอาการเมื่อยหน้าผากหรือคิ้ว และมีรอยย่นที่หน้าผากได้ถ้าเป็นนานๆ นอกจากนี้อาจรู้สึกว่าลานสายตาด้านบนนั้นแคบลง ทำให้มองเห็นไม่กว้างเหมือนเคย บางคนอาจมีอาการเงยหน้าขึ้นตลอดเวลาเพื่อมองให้ชัดขึ้น ทำให้เมื่อยหรือปวดหลังคอได้
รูปนี้แสดงให้เห็นภาวะเปลือกตาตกที่ใกล้เคียงกันทั้งสองข้างหลังจากอายุมากขึ้น (65 ปี) เมื่อเปรียบเทียบกับรูปสมัยสาวๆ (18 ปี) โดยให้สังเกตที่ขอบของเปลือกตาบนว่าหย่อนลงมาบังตาดำมากขึ้น ระยะห่างจากจุดที่แสงแฟลชตกกระทบกับกระจกตา(จุดกึ่งกลางของกระจกตา)นั้นสั้นลง ทำให้ตาดูปรือมากขึ้น นอกจากนี้ยังมีภาวะหนังตาหย่อนด้านข้างร่วมด้วยเล็กน้อย (lateral hooding of upper eyelid skin)
แก้ไขภาวะเปลือกตาตกอย่างไร
เนื่องจากเปลือกตาตกเป็นภาวะที่เกิดจากปัญหาของกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตา การแก้ไขจะแตกต่างกับการทำ upper blepharoplasty ซึ่งเป็นการผ่าตัดบริเวณชั้นผิวหนังเป็นหลักดังที่กล่าวถึงไปแล้ว การผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาตกจะเป็นการผ่าตัดที่ชั้นกล้ามเนื้อตาที่อยู่ลึกลงไปจากชั้นผิวหนัง
ซึ่งกล้ามเนื้อที่ทำหน้าที่ในการลืมตาหรือยกเปลือกตานั้นมี 2 มัดหลักๆคือ
- กล้ามเนื้อมัดใหญ่ (levator muscle)
- กล้ามเนื้อมัดเล็ก (Müller’s muscle)
วิธีการผ่าตัดแก้ไขเปลือกตาตกนั้น ขึ้นกับความรุนแรงของเปลือกตาที่ตก และกำลังของกล้ามเนื้อตาที่เหลืออยู่ สำหรับเปลือกตาตกที่เกิดมาจากสาเหตุของอายุที่มากขึ้น มักจะเกิดจากสาเหตุกล้ามเนื้อมัดใหญ่หลุดออกจากที่เคยเกาะ
- ถ้าตกมาก ๆ ก็มักจะแก้ไขด้วยการกระชับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ โดยการกรีดที่ผิวหนังตรงบริเวณชั้นตา อีกกรณีหนึ่งคือถ้ามีภาวะหนังตาหย่อนร่วมด้วย ก็สามารถตัดเอาหนังส่วนเกินพร้อมทั้งกระชับกล้ามเนื้อมัดใหญ่ไปในคราวเดียวกันได้
- ถ้าตกน้อย ๆ และมีปฏิกิริยาตอบสนองต่อการใช้ยา phenylephrine (ซึ่งเป็นยาที่มีฤทธิ์ขยายม่านตา และกระตุ้นให้กล้ามเนื้อมัดเล็กทำงานในภาวะปรกติ) อาจจะใช้เทคนิคกระชับกล้ามเนื้อมัดเล็กได้จากด้านในเปลือกตา เวลาทำผ่าตัดจะพลิกเปลือกตาขึ้นมา และกรีดจากทางด้านในเปลือกตาทางเยื่อบุตาแทน ทำให้ไม่มีแผลเป็นบนผิวหนังด้านนอก
การเตรียมตัวก่อนผ่าตัดเปลือกตา
ผู้ป่วยที่รับประทานยาละลายลิ่มเลือดควรหยุดอย่างน้อย 7 วันก่อนผ่าหรือตามคำแนะนำของแพทย์ ถ้ามีรับประทานอาหารเสริมหรือวิตามิน ควรหยุดกินก่อนผ่าตัดประมาณ 2 อาทิตย์ เพื่อลดความเสี่ยงที่จะเลือดออกและบวมช้ำมากหลังผ่าตัด
การผ่าตัดเปลือกตาถือเป็นการผ่าตัดเล็ก ไม่จำเป็นต้องนอนโรงพยาบาล ผู้ป่วยสามารถเข้ารับการผ่าตัดได้ตามเวลานัดเมื่อผ่าตัดเสร็จก็สามารถกลับบ้านได้ โดยปรกติจะใช้เวลาในการผ่าตัดข้างละประมาณ 20-30 นาที ถ้าทำทั้ง 2 ข้างก็จะใช้เวลาประมาณ 40-60 นาที เมื่อผ่าตัดเสร็จจะมีไหมอยู่ตรงบริเวณแผลผ่าตัด และมียาขี้ผึ้งป้ายบางๆ ไม่มีการติดพลาสเตอร์หรือก๊อซที่แผลโดยตรง ผู้ป่วยสามารถลืมตาและใช้สายตาได้ทันทีหลังผ่าตัด
การปฏิบัติตัวหลังผ่าตัดเปลือกตา
- หลังผ่าตัด 24-72 ชั่วโมงแรก ควรประคบเย็นบริเวณแผล โดยประคบแต่ละครั้งนานประมาณ 15-20 นาที ให้บ่อยที่สุดเท่าที่ทำได้ เพื่อช่วยยุบบวมและหยุดเลือด ถ้ามีเลือดซึมสามารถใช้ผ้าก๊อซหรือทิชชูสะอาดกดที่แผล ไม่ต้องแรง จนกว่าเลือดจะหยุดซึม
- ห้ามแผลโดนน้ำอย่างเด็ดขาด เพราะจะทำให้แผลติดเชื้อได้ หากแผลเปียกให้ รีบเช็ดให้แห้งแล้วแต้มยา ควรทำสะอาดใบหน้าโดยใช้ผ้าชุบน้ำสะอาดเช็ดแทน การล้างหน้า
- ป้ายยาขี้ผึ้งฆ่าเชื้อที่แผลบางๆ วันละ 2-3 ครั้ง
- ในสองคืนแรกควรนอนศีรษะสูงกว่าปกติ (เช่นใช้หมอน 2 ใบ หนุนตั้งแต่ช่วงไหล่ขึ้นไป) เพื่อช่วยลดอาการบวม
- สามารถเดินหรือทำงานที่ไม่ออกแรงได้ตามปกติ แต่ให้หลีกเลี่ยงกิจกรรมที่ ทำให้เหงื่อออกมาก เช่น ออกกำลัง ยกของหนัก การทำอาหารที่โดนความ ร้อนหรือควัน ไม่ควรขยี้ตา กระเทือนแผล หรือออกแรงเบ่ง เพราะอาจทำให้เลือดออกซ้ำ
- ใส่แว่นตากันแดด ระวังลมฝุ่น สิ่งสกปรก เวลาออกไปข้างนอก
- หลังผ่าตัดประมาณ 1 สัปดาห์แพทย์จะนัดมาทำการตัดไหม หลังจากตัดไหมแล้วสามารถแต่งหน้ารอบๆดวงตาได้ เพื่อปกปิดรอยช้ำ แต่ควรหลีกเลี่ยงการใช้เครื่องสำอางบริเวณรอบดวงตาเป็นเวลา 3-4 สัปดาห์
สิ่งที่พึงทราบเกี่ยวกับอาการหลังผ่าตัด
- ผู้ป่วยจะมีอาการบวมและเขียวช้ำบริเวณที่ผ่าตัดประมาณ 2 – 3 สัปดาห์ หลังจากนั้นอาการบวมจะดีขึ้นประมาณ 80% ภายในเดือนแรกและกลับมาใกล้เคียงปกติซึ่งกว่าจะเข้าที่นั้นจะใช้เวลาประมาณ 3-6 เดือน
- หลังผ่าตัดอาจมีภาวะตาแห้งที่มากขึ้นหรืออาจหลับตาไม่สนิทโดยเฉพาะใน2-3 เดือนแรก เนื่องจากการบวมตึงของแผลและกล้ามเนื้อตา ทำให้มีอาการแสบตา ตาพร่าหรือน้ำตาไหลร่วมด้วยได้ แต่อาการส่วนใหญ่จะค่อยๆดีขึ้นเอง
- หลังตัดไหม รอยแผลอาจจะเห็นชัด เป็นสีชมพู และจะจางลงเป็นธรรมชาติใน 3-6 เดือน
ศัลยแพทย์แต่ละท่านอาจมีเทคนิคและความชำนาญที่แตกต่างกัน ดังนั้น ควรเลือกแพทย์ที่มีประสบการณ์และเลือกสามารถวิธีที่สุดสำหรับแต่ละบุคคล เพื่อให้การทำศัลยกรรม ผลลัพธ์ออกมาดีต่อตัวคนไข้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจากพญ.พิมพ์ขวัญ จารุอำพรพรรณ