บทความ Knowledges
‘ฝ้า’ ปัญหากวนใจ
ฝ้า ปัญหาที่ใครหลายคนกวนใจ
ฝ้า ถึงเเม้ว่าจะไม่ได้เป็นโรคร้ายเเรง เเต่ก็เป็นปัญหาผิวที่สาว ๆ หลายคนหนักใจอย่างมาก ยิ่งฝ้าเข้มมาก ก็ต้องยิ่งโบกเครื่องสำอางปิดบังมากเท่านั้น เชื่อว่าหลาย ๆ คน เสียความมั่นใจเพราะฝ้า วันนี้ พญ.สรวลัย รักชาติ เเละพญ.อริสา เเก้วเกษ จะมาเคลียร์ปัญหาเรื่องฝ้ากันค่ะ
ฝ้า (Melasma) คือ ปื้นสีน้ำตาล ที่เกิดบนบริเวณโหนกแก้ม จมูก และหน้าผาก ลักษณะฝ้า จะแตกต่างจากกระ ที่เป็นจุดกลม ๆ มักพบในคนเอเชีย ที่มีสีผิวคล้ำ ผิวขาวเหลือง
ปัจจัยที่ทำให้เกิดฝ้า
- เกิดจากการที่เราอยู่ในสภาพแวดล้อมที่มีแสงแดด ทำให้ผิวของเราแก่ก่อนวัย ซึ่งเราเรียกว่า Photoaging หรือ ความแก่จากแสงแดด นั่นเอง เนื่องจากแสงแดด ประกอบไปด้วยรังสีต่าง ๆ มากมาย รังสี UV , Ultraviolet และความร้อน ทำให้ผิวเกิดคล้ำเสีย เป็นปัจจัยหนึ่งในการเกิดฝ้านั่นเอง
- ฮอร์โมน ( Hormone) ของร่างกาย อาจเกิดจากการรับประทานยาที่กระตุ้นให้เกิดฮอร์โมน เช่น ยาคุมกำเนิด หรือยาฮอร์โมน หรือคนตั้งครรภ์ มีการเปลี่ยนแปลงของฮอร์โมนเพศหญิง แต่เมื่อคลอดลูก ฝ้าก็จะจางลง
- พันธุกรรม (Genetic) หรือกรรมพันธุ์ คนในครอบครัวเป็นฝ้า เเละปัจจุบันก็ยังไม่พบยีนที่ทำให้เกิดฝ้าได้
การรักษาฝ้า
การทายา
จากการวิจัยของแพทย์ พบว่าตัวยาที่ทาแล้วได้ผลมากที่สุด คือ Hydroquinone (ไฮโดรควิโนน) ทำให้ฝ้าจางได้มาก แต่อาจจะไม่ได้ผลเท่ากับ ยาผสม หรือ Kligman ที่มีสารไฮโดรควิโนน , Steroid , Tretinoin (เทรทติโนอิน) แต่การทายาเหล่านี้ ควรอยู่ในความดูแลของแพทย์ ปัจจุบัน มียาทาหลากหลายยี่ห้อเกิดขึ้นมากมาย แต่ครีมเหล่านี้อาจมีสารปรอทเจือปนอยู่ หากใช้ไปในระยะแรก อาจจะสังเกตได้ว่าหน้าขาวไว แต่หลังจากใช้ไปสักระยะนึง จะมีจุดดำ ๆ ขึ้นบนใบหน้าขึ้นมา
ยารับประทาน
ยาที่ได้ผลค่อนข้างดี คือ Tranexamic Acid เป็นยาที่ช่วยลดการสร้างเม็ดสี ช่วยให้ผิวขาวขึ้น และยังช่วยในการหยุดเลือด ผลการรักษาพบว่า ฝ้าจางลงถึง 80% เเต่การรับประทานยาควรอยู่ในความดูแลของแพทย์อีกเช่นกัน โดยปกติ จะให้รับประทานแค่เช้าเย็น 250 มิลลิกรัม ถือว่าค่อนข้างต่ำ และปลอดภัยสำหรับรักษาฝ้า แต่สำหรับคนที่มีโรคเกี่ยวกับเลือด ควรหลีกเลี่ยงการรับประทาน อาจจะรับประทานเป็นยาวิตามินที่มีสาร Antioxidant ที่มีฤทธิ์ทนต่อเเสง หรือทาครีมกันแดดแทน
การเลเซอร์
การเลเซอร์ ที่ใช้ในการรักษาฝ้า เช่น IPL แต่ไม่ตรงจุดเท่ากับ Q-Switched กลุ่ม Laser Toning ที่ออกแบบมาเพื่อกำจัดและลบรอยดำโดยเฉพาะ โดยระยะเวลาในการเลเซอร์นั้น ควรเลเซอร์ 1 – 2 ครั้งต่อสัปดาห์ แต่ข้อจำกัดของเลเซอร์กลุ่มนี้ก็มี คือ มีอากาสที่จะกลับมาเป็นฝ้าอีกครั้งนึง หรืออาจจะเกิดรอยคล้ำ หรือรอยจุดขาวบนใบหน้าหลังเลเซอร์ได้
ปัจจุบัน มีเลเซอร์ชนิดใหม่ออกมา คือ Picosecond Laser เป็นพลังงานแสง สามารถกำจัดเม็ดสีได้ โดยไม่เกิดแผลเป็นหรือผลข้างเคียง จากงานวิจัยของ ศ.นพ.วรพงษ์ มนัสเกียรติ พบว่า คนไข้ที่ทำการรักษาด้วย Picosecond Laser เมื่อยิงไปได้ 5 ครั้ง ฝ้าจางลงได้นานถึง 6 เดือนโดยที่ไม่ได้ใช้ยาร่วมเลย แต่ถึงอย่างนั้น ฝ้าก็ยังไม่หายขาดทีเดียว
การรักษาฝ้าที่ผิด
- การ Scrub อาจจะทำให้หน้าถลอก อักเสบ เกิดสิวได้
- การรักษาด้วยความร้อน ทำให้ผิวเกิดการคล้ำเสีย เกิดฝ้าเพิ่มขึ้น
- การกรอผิว นอกจากจะทำให้ผิวบางลง ยังเกิดแผลเป็นอีกด้วย
การดูแลปกป้องผิว
- หลีกเลี่ยงแสงแดด โดยการทาครีมกันแดดปัจจัยในการเลือกครีมกันแดด
- ควรเลือกกันแดดที่มีส่วนประกอบในการป้องกันรังสี UVA และรังสี UVB
- เลือก Physical sunscreen ที่มีส่วนประกอบของ Aeon oxide ที่ป้องกัน Visible light อย่าง Blue light หรือ แสงสีฟ้า จากหน้าจอโทรศัพท์ คอมพิวเตอร์ ได้
- มีค่า spf 50+ ขึ้นไป ยิ่งตัวเลขสูง ประสิทธิภาพการดูดซับรังสี UVB ก็จะยิ่งมากขึ้น
Tips : ควรทาในปริมาณที่มากพอสมควร หากเป็นกันแดดเนื้อครีม ควรบีบเนื้อครีมกันแดดออกมา 2 ข้อนิ้ว และหากเป็นน้ำ ให้บีบออกเท่าเหรียญ 10 บาท 2 เหรียญ
2. การแต่งตัวมิดชิด การใส่ Mask สวมหมวก พกร่ม ก็เป็นอีกวิธีนึงที่สามารถป้องกันผิวเราจากแสงแดดได้
3. หลีกเลี่ยงการใช้ยาที่กระตุ้นฮอร์โมน
การรักษาฝ้านั้น มีหลายช่องทางที่สามารถรักษาให้จางลงได้ แต่ก็ควรเลือกช่องทางที่ปลอดภัย และอยู่ในความดูแลของแพทย์ที่เชี่ยวชาญด้านผิวหนัง และต้องมีความอดทนในการรักษา และเนื่องจากว่า ฝ้าไม่สามารถรักษาให้หายขาดได้ จึงต้องมีวินัยในการดูแลตัวเอง ปกป้องผิวให้ดี เพื่อไม่ให้ฝ้าเกิดขึ้นบนใบหน้าของเราเพิ่มได้ค่ะ
ขอขอบคุณข้อมูลจากพญ.สรวลัย รักชาติ และพญ.อริสา แก้วเกษ ค่ะ