Skin Problem

จี้ไฝอย่างไรไม่ให้เกิดแผลเป็น

จี้ไฝอย่างไรไม่ให้เกิดแผลเป็น

แผลเป็นที่เกิดจากการจี้ไฝ เป็นได้ทั้งแผลเป็นหลุม และ แผลเป็นนูน มักเกิดจากการจี้ผิดวิธี หรือ จี้ด้วยเลเซอร์แต่ลึกเกินไป

จุดดำเหมือนกัน แต่เลเซอร์ที่เลือกใช้ ไม่เหมือนกัน

จุดดำ และรอยดำบนใบหน้ามีหลายชนิด บางชนิด เช่น กระแดด กระลึก จะใช้เลเซอร์กลุ่มทำลายเม็ดสี คือ Picosecond laser หรือ Q-switched laser ยิงให้ตกสะเก็ด และ หลุดออกไป แต่บางชนิดมีรอยโรคที่ลึกหรือหนาจำเป็นต้องใช้เลเซอร์จี้ทำลาย ชนิด Carbondioxide (CO2 laser) เพื่อให้ตัวรอยโรคหลุดออกไป เช่น ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ติ่งเนื้อ เป็นต้น 

จี้ง่าย จี้ยาก หรือต้องทำหลายครั้ง ขึ้นกับชนิดของรอยโรค

  • จี้ง่าย 1-2 ครั้งก็หายหมด

รอยโรคที่ตื้น ลักษณะเหมือนแปะอยู่บนผิวหนังชั้นหนังกำพร้า คือ กระเนื้อ (ลักษณะสีน้ำตาล ถึงดำ ผิวดูขรุขระ นูนขึ้นมาจากผิว ขนาดค่อยๆ โตขึ้น ตามอายุที่มากขึ้น พบบ่อยในคนสูงอายุ) ติ่งเนื้อ (จะเป็นติ่งนูนขึ้นจากผิว มีก้านขนาดเล็กและป่องเป็นก้อนตรงส่วนปลาย) ใช้การจี้ตัด

หรือใช้การจี้ตื้นๆ ไม่ถึงชั้นหนังแท้ โอกาสเกิดแผลเป็นน้อยมาก แนะนำให้จี้ตั้งแต่เนิ่นๆ เพราะแผลหลังเลเซอร์จะขนาดเล็ก โอกาสเกิดแผลเป็น รอยแดง รอยดำ น้อยกว่าการจี้เมื่อขนาดใหญ่

สิวข้าวสาร Milia – ลักษณะกลม สีขาว แต่ถูกคลุมด้วยผิวบางๆ คล้ายสิวอุดตัน หลายคนจึงเข้าใจว่าเป็นสิวอุดตัน สามารถจี้ หรือกดออกได้

  • จี้ยาก ต้องทำหลายครั้ง

ไฝ ( Mole ) หรือ ขี้แมลงวัน เกิดขึ้นจากเซลล์ในผิวหนังที่สร้างเม็ดสีเติบโตเป็นกลุ่มก้อน มีการกระจายของเซลล์เม็ดสีลึกลงไปในชั้นผิว อาจเกิดขึ้นได้ตั้งแต่กำเนิด หรือขึ้นตอนโตแล้ว ไฝมีหลายชนิด หลายสี ซึ่งสีดำพบบ่อยที่สุด มักพบเห็นเป็นตุ่มนูนเดี่ยว ๆ โดยจะมีความลึกที่แตกต่างกัน อาจจะอยู่แค่ผิวชั้นหนังกำพร้า หรืออาจจะอยู่ในผิวชั้นลึกด้วย หากอยู่ลึกมากก็จะใช้จำนวนครั้งในการรักษามากขึ้น

ต่อมไขมันโต

สิวหิน Syringoma

วิธีกำจัดไฝมีหลายวิธี จะเลือกอย่างไร

การกำจัดไฝมีอยู่หลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

  • จี้ด้วยเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) 
  • ตัดและเย็บ (excision)
  • จี้ด้วยไฟฟ้า (electrosurgery) – ไม่นิยมในปัจจุบัน
  • จี้ด้วยความเย็น (Liquid nitrogen)  – ไม่นิยมในปัจจุบัน

การจี้ที่ไม่แนะนำ และทำให้เกิดแผลเป็นได้บ่อย โดยเฉพาะแผลเป็นนูนชนิดคีลอยด์ มักเกิดจากการจี้โดยบุคคลที่ไม่ใช่แพทย์ เช่น จี้ที่ร้านเสริมสวยหรือตลาดนัด

  • จี้ด้วยความร้อนโดยใช้ธูปจี้
  • จี้ด้วยยาแต้ม ซึ่งมักเป็นกรด หรือด่างที่รุ่นแรง จะกัดทำลายผิวมากกว่าบริเวณที่ต้องการรักษา

วิธีที่นิยมใช้กันอย่างแพร่หลายนั้นก็คือการใช้ เลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ (CO2 Laser) จะเป็นเครื่องที่ให้ความร้อนสูง ทำให้ของแข็งเกิดการระเหิดกลายเป็นไอ โดยลำแสงของเลเซอร์คาร์บอนไดออกไซด์ จะเล็กมากทำให้สามารถกำจัดเนื้อเยื่อที่ไม่ต้องการได้อย่างละเอียดและแม่นยำ ซึ่งสามารถใช้กำจัดได้ตั้งแต่ ไฝ ขี้แมลงวัน กระเนื้อ ต่อมไขมันโต สิวหิน เป็นต้น เหมาะกับรอยโรคที่มีขนาดเล็กถึงปานกลาง

เทคนิคกำจัดไฝ ไม่ให้เกิดแผลเป็น

เทคนิคการกำจัดไฝด้วยคาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์ไม่ให้เกิดแผลเป็น ต้องอาศัย

1.ประสบการณ์ของแพทย์เป็นสิ่งสำคัญ เพราะต้องรู้ถึงความลึกที่ควรจะหยุดเลเซอร์ เพื่อไม่ให้เกิดแผลเป็นหลุม

2.ควรจะค่อย ๆ จี้ หากจี้ลึกเกินไปในครั้งเดียวจะมีโอกาสทำให้เกิดแผลเป็นหลุมได้

3.การเคลื่อนมือที่สม่ำเสมอไม่ยิงอยู่จุดเดียวนานเกินไป และการตั้งค่าพลังงานที่ดี เพราะว่า คาร์บอนไดออกไซด์เลเซอร์จะปล่อยพลังงานออกมาตลอดเวลาถ้าหากยิงไปยังจุดเดียว หรือเคลื่อนมือไม่ทัน ทำให้จี้ลึกเกินไป จะทำให้เกิดแผลเป็นหลุมได้

4. เครื่องเลเซอร์ที่ดี ตัวเครื่องก็เป็นสิ่งสำคัญ เพราะประสิทธิภาพและพลังงานในแต่ละยี่ห้อจะแตกต่างกันไป เครื่องที่มีประสิทธิภาพที่ดี โอกาสเกิดแผลเป็น รอยดำ รอยแดง จะน้อยกว่า

อยากให้ไฝหายในครั้งเดียว ได้หรือไม่

ถ้าหากไฝมีขนาดใหญ่มากและคนไข้รีบ หรือไม่ค่อยมีเวลา ต้องการที่จะหายภายในครั้งเดียว ก็จะมีอีกวิธีนึงคือการผ่าตัด แต่ก็มีข้อจำกัดอยู่หลายอย่าง เช่น บริเวณที่เป็นไฝสามารถทำการผ่าตัดยากหรือง่าย ต้องคำนึงถึงความสวยงาม รวมทั้งหลังการผ่าตัดแผลจะมีลักษณะยาวขึ้นกว่าแผลเดิมและเป็นลักษณะรอยขีด ต่างจากแผลเลเซอร์ที่มักจะมีขนาดและรูปรางกลมตามลักษณะของไฝเดิม

ดังนั้น จะเลือกวิธีไหนก็ตาม ขึ้นอยู่กับคนไข้ว่ามีเวลารักษามากน้อยแค่ไหน รับได้กับแผลแบบใด 

แต่อย่างไรก็ตามก่อนที่จะทำการรักษาควรได้รับการตรวจโดยแพทย์ผิวหนังก่อนเพื่อให้แน่ใจว่า ไฝ ขี้แมลงวัน หรือรอยโรคนั้นๆ ไม่ได้เป็นก้อนเนื้อร้าย เช่น มะเร็งผิวหนัง และควรเลือกสถานพยาบาลที่ได้มาตรฐาน เพราะหากผู้จี้ไฝมีความชำนาญไม่เพียงพอหรือเครื่องมือไม่ได้รับมาตรฐาน อาจทำให้เกิดรอยแผลเป็น หรือแผลติดเชื้อได้

 

 

Tips สำหรับคนไข้

ก่อนการรักษา ควรแจ้งแพทย์ถึงประวัติแผลเป็นคีลอยด์ หรือเกิดแผลเป็นง่าย และประวัติการแพ้ยานะคะ 

ขอบคุณบทความจาก พ.ญ. สรวลัย รักชาติ และ พ.ญ. นัทธมน บวรสถิตชัย

 

ปรึกษาจี้ไฝ ขี้แมลงวัน คลิก!